" "

สงครามเทคโอเวอร์ LFC

สงครามเทคโอเวอร์ LFC

สงครามเทคโอเวอร์ LFC

 

ลิเวอร์พูลก่อนยุค FSG คือสมบัติของตระกูลมอรส์ แต่เมื่อการแข่งขันทางฟุตบอลเปลี่ยนไป เดวิด มอรส์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ คิดว่าจะพึ่งพาความร่ำรวยของเขาอย่างเดียว ลิเวอร์พูลคงล้าหลังว่าทีมอื่น ดังนั้นต้องยอมตัดใจขายทีมที่รัก ดุจเฉือนหัวใจของตัวเองทิ้ง เรื่องนี้เขียนโดย พอล โกร์สต์ (Paul Gorst) ลงในเพจส่วนตัวและลิเวอร์พูล เอ๊คโค่

 

แน่นอน ลิเวอร์พูลเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก เมื่อเจ้าของทีมประกาศขายหุ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ต่อให้ทีมไม่ได้แชมป์ลีกนานเกือบ 15 ปี ชื่อของลิเวอร์พูล ฟุตบอล คลับ ยังขายได้ มีสาวกสรรเสริญทั่วโลก

 

นี่คือยักษ์ใหญ่ที่กำลังหลับใหล ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ลิเวอร์พูล FC คือเพชรที่รอการเจียระไน

 

ทีมที่มีแฟนบอลหนาแน่นและจงรักภักดีที่สุดทีมหนึ่ง พยายามไล่ตามคู่แข่งในสนาม นี่คือการซื้อเหมืองทองคำในราคาถูก นักลงทุนมองแบบนั้น มอรส์ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นของแหล่งทุนใหม่สำหรับการแข่งขันในยุคพรีเมียร์ ลีกมาตลอด แต่เวลาผ่านไปนานเท่าไร ดูเหมือนเขาไม่มีทางหลบเลี่ยงได้ และ    ลิเวอร์พูลอาจพบจุดจบแบบไม่มีใครคาดคิด

 

ค่าตัวนักเตะพุ่งสูง กลายเป็นเรื่องปกติของพรีเมียร์ ลีก แมนฯ ยูฯ เชลซี และอาร์เซน่อล คว้านักเตะค่าตัวแพงเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง ต้นปี 2004 นักเตะค่าตัวแพงสุดของลิเวอร์พูลคือเอมิล เฮสกี้ จากเลสเตอร์ตัวค่าเงิน 11 ล้านปอนด์ ขณะที่ตลาดของพรีเมียร์ ลีก นักเตะค่าตัวมหาศาลเดินกันเกลื่อน ฮวน เซบาสเตียน เวรอน (28 ล้านปอนด์) รูด ฟาน นิสเตลรอย (19 ล้านปอนด์) ริโอ เฟอร์ดินานด์ (30 ล้านปอนด์) และคริสเตียโน่ โรนัลโด้ (12 ล้านปอนด์) พาเหรดเข้าสู่โอลด์ แทรฟเฟิร์ด ล้วนๆ

 

อาร์เซน่อลพร้อมจ่ายเช่นกัน ซิลแว็ง วิลตอร์ โจวานนี่ ฟาน บรองค์ฮอร์สท์ และฮวน อันโตนิโอ เรเยส เข้าสู่ไฮบิวรี่ด้วยค่าตัวที่แพงกว่านักเตะในแอนฟิลด์

 

โชคชะตาของเชลซีพลิกในชั่วข้ามคืน เมื่อโรมัน อบราโมวิชเทคโอเวอร์ ยิ่งทำให้มอรส์รู้สึกว่า ลิเวอร์พูลโดนทิ้งไว้ด้านหลัง ทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่น วัดกันด้วยเงิน ลิเวอร์พูลไม่มีทางสู้ได้ ดังนั้นถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การปรับปรุงและขยายความจุแอนฟิลด์ และถ้าจะแข่งกันซื้อนักเตะ ไม่มีซุปเปอร์ สตาร์คนไหนสนใจลิเวอร์พูล หรือถ้าจะแข่งกันเพื่อแย่งตัว ลิเวอร์พูลต้องหมอบก่อนถึงจังหวะเรียกดูแต้ม

 

ตระกูลมอรส์ นำลิเวอร์พูลมาไกลสุดกำลัง แต่การหานักลงทุนที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น ต้นปี 2004 ลิเวอร์พูลเริ่มฟังข้อเสนอ แน่นอนอยู่แล้ว ลิเวอร์พูลประกาศขายหุ้นแพร่สะพัด ข้อเสนอมากมายพุ่งมาแอนฟิลด์

คนแรกที่ประกาศตัวซื้อหุ้นคือ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย มองเห็นว่า ลิเวอร์พูล เอฟซี คือแบรนด์ที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย ความคิดของอดีตนายกฯ ไทย ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ตอนนั้น ไม่ใช่เรื่องโกหกพกลม มีการเจรจาจริงๆ นำโดย พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ซึ่งเปิดเผยในตอนนั้นว่า “ในประเทศไทย น่าจะมีแฟนบอลลิเวอร์พูลเกือบ 1 ล้านคน ถ้าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเจ้าของทีมลิเวอร์พูล น่าจะทำให้คนไทยสนใจกีฬาและการออกกำลังกายมากขึ้น”

 

พงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า “คนไทยจะดำเนินชีวิตในทางที่เหมาะสม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ซึ่งปกติไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไร การกระตุ้นให้คนไทยเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ดี เราคิดว่า ลิเวอร์พูลมีชื่อเสียง เป็นหัวหอกที่ดีในการรณรงค์ดังกล่าว”

 

นายกรัฐมนตรีไทย อนุมัติงบประมาณ 60 ล้านปอนด์ สำหรับการซื้อหุ้น 30 % ของลิเวอร์พูล

 

“ถ้าลิเวอร์พูลตกลง ทุกอย่างสามารถปิดดีลอย่างรวดเร็ว” อดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวในตอนนั้น “แต่ไทยไม่ต้องการเป็นผู้ตาม ต้องมีคนไทยเป็นผู้บริหารในบอร์ดหลายๆคน”

 

ประเทศไทยเอาเงินจากไหนมาซื้อหุ้นลิเวอร์พูล คำตอบคือ ลอตเตอร์รี่ คาดว่าจะทำเงินได้ 140 ล้านปอนด์ โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นบอกว่า การซื้อลิเวอร์พูลไม่เกี่ยวกับเงินภาษี

 

ความจริง การมองการณ์ของทักษิณ ชินวัตรไม่ได้หยุดแค่ลิเวอร์พูล แต่ทีมไหนก็ได้ในพรีเมียร์ ลีก เหมือนเป็นของเล่นสำหรับคนรวย การเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ เมื่อปี 2004 และนายกรัฐมนตรีวัย 55 ปี ให้ข่าวในเดือนพฤษภาคมว่า  “เราน่าจะซื้อหุ้นทีมใดทีมหนึ่งได้ตอนสิ้นเดือนมิถุนายน”

 

ไม่เพียงแต่นายกรัฐมนตรีไทยให้ข่าวเรื่องนี้ เหมือนกันคณะรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน มีบทสัมภาษณ์ของจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาลว่า “ท่านนายกฯ สนใจลิเวอร์พูล แต่ก็สนใจทีมพรีเมียร์ ลีกทีมอื่นด้วย ทีมไหนก็ได้ ขอให้อยู่ในพรีเมียร์ ลีก ถือเป็นการลงทุนที่ดี”

 

ไทยส่งคณะเจรจามาลิเวอร์พูลตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม นอกจากแอนฟิลด์แล้ว ตัวแทนของนายกฯ ไทย มุ่งหน้าไปกูดิสันพาร์คด้วย เผื่อการเจรจากับลิเวอร์พูลไม่ประสบความสำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด นายกฯ ทักษิณ เปลี่ยนใจยกเลิกแผนการซื้อลิเวอร์พูล ขณะที่การเมืองในประเทศไทยครุกรุน ใกล้ถึงการเลือกตั้ง สส ครั้งใหม่ การชิงคะแนนเสียงในสภาสำคัญกว่าการซื้อลิเวอร์พูล เป็นอันว่า แผนการนี้ถูกยกเลิก

 

อย่างไรก็ตาม มอรส์และบอร์ดลิเวอร์พูล อาจโล่งใจที่ขอเสนอของไทยเงียบหายไป เพราะชักไม่แน่ใจว่า ลิเวอร์พูลจะเป็นอย่างไร หากอยู่ในมือของคนที่สนใจจะครอบครองทีมในพรีเมียร์ ลีก ทีมใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลิเวอร์พูล

 

มิถุนายน  2007 ทักษิณ ชินวัตรทำได้อย่างที่พูด ด้วยการซื้อสโมสรแมนฯ ซิตี้

 

นอกจากข้อเสนอจากไทยแล้ว พฤษภาคม 2004 สตีฟ มอร์แกน เจ้าของบริษัท เร้ดโรว์ โฮม ยื่นข้อเสนอ 73 ล้านปอนด์ให้ลิเวอร์พูล แต่สโมสรมองว่า ไม่น่าสนใจ

 

มีนาคม 2004 มีข่าวครั้งแรกเรื่องการขายหุ้น ประมาณว่า 50 ล้านปอนด์น่าจะพอ แต่มอรส์ปฏิเสธ “ผมคุยกับแฟนบอลหลายคน นับแต่มีข่าวเรื่องขายหุ้น” ริชาร์ด เพดเดอร์ ประธานชมรมผู้สนับสนุนทีมลิเวอร์พูลกล่าว “ภาพรวมคือ 50 ล้านปอนด์ น่าจะพอ ซึ่งแฟนบอลสนใจว่า เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร”

 

ตอนนั้น ริค พาร์รี่คือ CEO ข้างกายมอรส์ มองว่า ไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจ รอข้อเสนอที่ดีที่สุด สตีฟ มอร์แกนกลับมาอีกด้วยเงิน 61 ล้านปอนด์ แลกกับลิขสิทธิ์ต่างๆของสโมสร และอีก 12 ล้านปอนด์ กับหุ้นบางส่วน ที่สามารถขายให้แฟนบอลได้ รวมเป็น 73 ล้านปอนด์

 

“ฝ่ายบริหารอาจไม่เข้าใจว่าเราขอซื้ออะไร มิสเตอร์ มอร์แกน ไม่ได้ขอซื้อสโมสร แต่ต้องการร่วมลงทุนด้วย สิ่งสำคัญคือ ลิเวอร์พูลมีเงินมากแค่ไหนในการบริหารงาน โดยเฉพาะการซื้อนักเตะและปรับปรุงสนาม” ลิเวอร์พูลทำท่าจะตกลงเหมือนกัน ก่อนปฏิเสธ ซี่งสตีฟ มอร์แกน ผิดหวังมากที่ข้อเสนอของเขาไม่เป็นความจริง

 

จริงๆ มอร์แกน มีหุ้นในสโมสรอยู่แล้ว มากเป็นอันดับ 3 และพยายามเพิ่มบทบาทของตัวเองให้มากขึ้น “ผมขอบคุณแฟนบอลนับพันคนที่สนับสนุนความพยายามของผมและครอบครัว” มอร์แกนกล่าว “ผมยังรักและพร้อมอยู่กับลิเวอร์พูล พร้อมช่วยบอร์ดตัดสินใจและยุติความไม่แน่นอนของอนาคต เพื่อความมั่นคงของสโมสรและเชลาร์ อุลลิเยร์ในการทำงาน”

 

มอร์แกนบอกว่า ข้อเสนอของเขาสำหรับลิเวอร์พูลยังอยู่หากลิเวอร์พูลต้องการ ซึ่งเขามั่นใจว่า ลิเวอร์พูลจะมีอนาคตสดใส

 

“ผมมีข้อเสนอ พร้อมเงิน สามารถเข้าบัญชีสโมสรช่วงคริสต์มาส” มอร์แกน ยังไม่ถอย เขาประกาศเจตนาอีกเมื่อเห็น ราฟาเอล เบนิเตซ นำลิเวอร์พูลเข้ารอบน็อค เอาท์ของ UCL ในเดือนตุลาคม 2004 “ราฟาเอล เบนิเตซ จะมีเงินซื้อนักเตะ และสโมสรปรับปรุงสนามได้ โปรดรับข้อเสนอของผม”

 

อย่างไรก็ตาม บอร์ดลิเวอร์พูลไม่ตอบสนองคำขอของสตีฟ มอร์แกน เป็นอันว่า ข้อเสนอของเขาตกไปโดยปริยาย วินเซนต์ แฟร์คลัฟ ตัวแทนทีมกฎหมายของมอร์แกนกล่าวว่า “บอร์ดลิเวอร์พูล ใช้ข้อเสนอของมอร์แกน เป็นแค่เครื่องต่อรองกับนักลงทุนรายอื่นเท่านั้น “มิสเตอร์ มอร์แกนไม่อยากเป็นเครื่องบรรณาการอีกต่อไป กับการเสนอเงิน 70 ล้านปอนด์ให้สโมสรโดยตรง และไม่เป็นที่ต้องการของประธานสโมสร เขาหมดความอดทน และมีหลายอย่างในชีวิตที่ต้องทำ”

 

ลิเวอร์พูลเล่นเจ้าล่อเอาเถิด อีกสองปี กว่าเดวิด มอรส์จะยอมขายสมบัติ เจ้าคุณปู่ให้ทอม ฮิคส์และจอร์ช จิลเล็ตต์

 

กิตติกร อุดมผล

Facebook fanpage: Captain No.12

ติดตามข่าวสารได้ที่ :: ข่าวฟุตบอลต่างประเทศ

บทความก่อนหน้า :: เฟร์นานโด ตอร์เรส LFC ทรยศผม 2